รถบัสในเวียนนา อารยสถาปัต

เป็นที่รู้กันดีว่าระบบขนส่งมวลชนสาธารณะของเวียนนานั้น สะดวกสบาย เป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ลองจินตนาการดูว่าเราสามารถเดินทางข้ามไปคนละฝากฝั่งของเมืองได้ ภายในเวลาเพียง 30 นาที รถไฟฟ้า รถราง รถบัส มาตรงเวลา และมาบ่อย ผู้โดยสารสามารถทำการวางแผนการเดินทางของตัวเองได้อย่างแม่นยำ โดยไม่ต้องกลัวว่าจะไปสาย หรือ ต้องเผื่อเวลาในการเดินทาง 2 ชั่วโมงเหมือนประเทศไทย

ยิ่งกว่านั้น ความประทับใจอีกอย่างที่ผมได้พบ คือ เรื่องของการออกแบบเพื่อทุกคน หรือที่เราใช้คำว่า อารยสถาปัต (Universal Design) จริง ๆ แล้ว เมื่อก่อนที่ผมเคยไปใช้ชีวิตอยู่ที่เวียนนา ก็ไม่เคยคิดหรือสัมผัส หรือสังเกตุเรื่องพวกนี้มาก่อน จนกระทั่งมีลูกไปด้วยครับ

ลองจินตนาการว่า คุณสามารถเข็นรถเข็นลูกของคุณออกจากบ้าน เพื่อไปห้างสรรพสินค้า ได้ โดยไม่ต้อง “ยก” รถเข็นขึ้นเลยแม้แต่น้อย คุณสามารถเข็นรถเข็นไปได้ทุกที่ หากเข็นขึ้นรถไฟฟ้า ก็จะมีลิฟท์ ขึ้นรถรางก็จะมีรถรางรุ่นใหม่ที่พื้นรถรางเท่ากับถนน เข็นเข้าไปได้เลย ที่เวียนนา นี้ หากซื้อรถเข็นมาใช้งาน สามารถใช้ได้คุ้มค่าแน่นอน เพราะว่า สามารถเข็นรถเข็นตั้งแต่ ออกจากบ้าน ขึ้นรถไฟ ต่อรถบัส ลง รถราง ไปจนถึงห้างสรรพสินค้าได้เลย

มาถึงรถบัส จะทำยังไงล่ะทีนี้ ที่นี่ก็มีคำตอบครับ เริ่มแรกเลยเมื่อเราต้องการเข็นรถเข็นเด็ก หรือรถเข็นผู้พิการขึ้นรถ จะต้องกดปุ่มหน้าตาแบบนี้ จะเป็นรูป รถเข็นเด็กและรถเข็นผู้พิการ

ปุ่มสำหรับคนที่ต้องการใช้รถเข็น

เมื่อกดเสร็จ รถบัส จะเอียงตัวลงครับ โดยเอียงมาทางฟุตบาทที่เรายืนรออยู่ ซึ่งส่วนใหญ่ความสูงจะได้ระนาบเท่ากันพอดี แต่ก็มีบางที่นะครับ ที่มันไม่เท่ากันก็ต้องออกแรงเข็นให้ขึ้นไปหน่อย แต่ถ้าในกรณีที่รถเข็นผู้พิการต้องเข็นขึ้นให้ได้แนวระนาบ พนักงานขับรถจะดึงแผ่นเหล็กที่อยู่ทางลาดนี้ลงมาที่พื้นเพื่อให้สามารถเข็นรถเข็นได้ง่ายขึ้น

สภาพการเอียงของรถที่ทำให้เราเข็นได้ง่ายขึ้น หรือถ้าเข็นไม่ได้จริงๆ จะสามารถดึงแผ่นนั้นลงพื้นได้

พอเข็นเข้าไปในรถ ก็จะมีบริเวณในรถที่เอาไว้จอดรถเข็นโดยเฉพาะ โดยสามารถจอดได้ประมาณ​ 3 คันมากสุด ดังภาพด้านล่าง

พื้นที่จอดรถพิเศษสำหรับรถเข็นต่าง ๆ

สำหรับพื้นที่จอดรถเข็นจะมีเชือกสีแดง ๆ ไว้ เอาไว้สำหรับผูกรถเข็น ไม่ใส่ไถล หรือ ขยับเวลารถวิ่ง สังเกตุจะมีสัญลักษณ์ รถเข็น อยู่ หากเราต้องการจะลง ก็ให้กดปุ่มนี้ พนักงานก็จะกดให้รถเอียงลง แล้วเราก็สามารถเข็นลงไปได้นั่นเอง